จดหมายเหตุ
พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐

พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย

              พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพเป็นราชประเพณีที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งเพราะเป็นการเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพที่อวตารลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์เมื่อสวรรคต แบบแผนพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน มีที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยกรุงศรีอยุธย แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างตามยุคสมัย หรือตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์    

                ปกติแล้ว พระราชพิธีพระบรมศพจะจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ใช้เวลาเตรียมการนานหลายเดือน มีรายละเอียดซับซ้อน และประกอบด้วยหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสรงน้ำพระบรมศพ (การอาบน้ำศพ) การสุกำพระบรมศพ (การห่อและมัดตราสังข์) และการอัญเชิญพระบรมศพสู่พระบรมโกศ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นพิธีที่เป็นการภายในเท่านั้น ปัจจุบันสถานที่ประกอบพิธีข้างต้น คือ พระที่นั่งพิมานรัตยา ภายในพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งงานพระบรมศพพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีประชาชนจำนวนมากต้องการถวายน้ำสรงเพื่อแสดงความรักความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนสามารถถวายน้ำสรงพระบรมศพที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังได้เป็นครั้งแรก และยังสืบต่อมาจนถึงครั้งปัจจุบัน