บทความ
การแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
๑๓ กันยายน ๒๕๖๐

 บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ด้านสังคม

เรื่อง การแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

เรียบเรียงโดย   ปัทมาวดี เหลือสม 

................................................

การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณจัดเป็นงานใหญ่ มีมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิเป็นแบบแผนสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเพื่อให้ประชาชน และถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังถือเสมือนเป็นการแสดงพระกฤดาธิการของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุตามแบบแผนประเพณีเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พ.ศ. 2339 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้น การประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้งในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2539 และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา

              ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กระทรวงวัฒนธรรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดการแสดงมหรสพสมโภช โดยในครั้งนี้มีกำหนดการเตรียมการแสดงทั้งหมด 3 เวที  บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย 

เวทีที่ 1 การแสดงมหรสพ จัดแสดงหนังใหญ่ และโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตั้งแต่ตอนพระนารายณ์อวตาร ถึงศึกรบชนะทศกัณฑ์

เวทีที่  2 การแสดงละคร หุ่นหลวง หุ่นกระบอก เรื่องพระมหาชนก อิเหนา มโนห์รา

เวทีที่ 3 การแสดงดนตรีสากล บรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงถวายอาลัย

ทุกเวทีกำหนดเวลา เริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนถึงเวลา 06.00 น. 

ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

                นอกจากการแสดงทั้ง 3 เวทีแล้ว ยังได้กำหนดการแสดงที่สำคัญยิ่งคือ การแสดงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือพระเมรุมาศ ที่เรียกันว่า โขนหน้าไฟ จัดการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอีกด้วย 

                 ผู้แสดงประกอบด้วย นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป ทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้แสดง ผู้พากย์ – เจรจา ผู้บรรเลง             ขับร้องและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คน 

การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ถือเป็นประเพณีที่มีมาแต่ ครั้งโบราณ โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชน และถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน  การแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นาฏศิลปินทุกหมู่เหล่าต่างฝึกซ้อมอย่างขะมักเขม้น เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


                                                                                                                    .............................................


                          ผู้สนใจสามารถขอรับบทความได้ที่   ส่วนการประชาสัมพันธ์  สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์   กรมประชาสัมพันธ์  ถนนพระราม 6  เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 02-618-2323 ต่อ 1626-27


Top