ข่าวเด่น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ
๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐


 


               วันนี้ (วันพุธที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐) เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฤกษ์ระหว่างเวลา ๑๗.๑๙ น. – ๒๑.๓๐ น. ณ มณฑลพิธี
ท้องสนามหลวง โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์
ราชรถและพระยานมาศฯ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เฝ้าฯ รับเสด็จ


            ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการ กราบบังคมทูลรายงาน และเบิกกรรมการสร้างพระเมรุมาศ
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จฯ ไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อนพปฎลมหาเศ
วตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากรรับไปผูกไว้ที่เสาบัว

 
 
 



สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ 
มีขนาดความกว้าง ๑.๒๐ เมตร ความสูง ๕.๑๐ เมตร ลักษณะเป็นฉัตรขาว ๙ ชั้น
แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด ๓ ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง ๑๔ ช่อ 
ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม
ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง นพปฎลมหาเศวตฉัตรนี้ เป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับ
พระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว
ทั้งนี้ ฉัตร เป็นเครื่องสูง มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เป็นเครื่องสูงที่ใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่
เป็นเกียรติยศ มีหลักฐานว่าไทยเราใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง





            พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขนาดความกว้าง ๖๐ เมตร
ยาว ๖๐ เมตร สูง ๕๐.๔๙ เมตร ประกอบด้วย อาคารทรงบุษบก จำนวน ๙ องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๓ ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ บุษบกประธาน
มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ทั้งสี่ด้านติดตั้งฉากบังเพลิง เขียนรูปนารายณ์
อวตารและภาพโครงการพระราชดำริ มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ ๓ เป็นที่ตั้งของบุษบกซ่าง ชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ถัดลงมาบนฐานชาลาชั้นที่ ๒ มีบุษบก หอเปลื้อง รูปแบบเดียวกัน
แต่ขนาดย่อมลงมา ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ บริเวณฐานชาลาทั้งสามชั้นประดับด้วยประติมากรรม ท้าวจตุโลกบาล เทวดา ครุฑ ราชสีห์ คชสีห์ นาคราวบันได และสัตว์ประจำทิศ
รอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำ และเขามอจำลองประดับรูปสัตว์หิมพานต์ชนิดต่างๆ


ที่มา : กรมศิลปากร

Top